วิธีรักษาการนอนกรน

นอนกรนรักษาได้
คุณเคยมีอาการอย่างนี้กันบ้างไหม
  • นอนตื่นสายทั้งๆ ที่เมื่อคืนก็ไม่ได้นอนดึก
  • นอนมาก ตื่นก็สาย แต่ทำไมไม่สดชื่น แถมมีอาการง่วงๆ ซึมๆ อีกต่างหาก
  • หงุดหงิด อารมณ์เสียง่าย ความสามารถในการจำลดลง
  • ตกบ่ายก็เกิดอาการหาว และอยากนอน
ไม่ว่าเพศใด วัยใด น้ำหนักขนาดไหน ถ้าหากมีอาการที่มีลักษณะเหมือนกัน หรือใกล้เคียงกับอาการต่างๆ เหล่านี้ ควรสังเกตตนเองและพูดคุยกับคนใกล้ชิดว่าอาการเหล่านี้เป็นมากน้อยเพียงใด และควรใส่ใจสุขภาพตนเองมากขึ้น เพราะไม่เช่นนั้น "การนอน จะไม่ใช่การพักผ่อนที่ดีที่สุด" ของคุณอีกต่อไป

การนอนหลับที่ปกติเป็นเรื่องของธรรมชาติอย่างหนึ่ง รวมถึงการ "นอนกรน" แต่ด้วยความก้าวหน้าทางการแพทย์ ทำให้รับรู้ว่าการ "นอนกรน" มีอันตรายต่อสุขภาพของตนเองและคนใกล้ชิดอย่างมาก จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นคน "นอนกรน" เรื่องนี้ง่ายมากๆ นั่นคือ ถามคนใกล้ชิด (ไม่ว่าจะเป็น สามี ภรรยา หรือลูกหลานก็ได้) ถ้าไม่เชื่อก็ควรให้คนใกล้ชิดบันทึกเสียงขณะหลับไว้เปิดฟังในเวลาตื่นนอน ว่าเสียง "นอนกรน" ของตนรบกวนคนอื่นขนาดไหน คราวนี้แหละ รู้แน่ๆ ว่า "นอนกรน"   รบกวน คนใกล้ชิดมากน้อยขนาดไหน และตนเองจะมีอันตรายอะไรบ้าง  ทำอย่างไรถึงจะไม่ "นอนกรน" อีกต่อไป
      
นอนกรนคืออะไร
นอนกรน คือ ความผิดปกติของการนอน มี ๒ ชนิด ดังนี้
๑. ชนิดไม่อันตราย ไม่ทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ เพียงแต่ก่อความรำคาญให้คนใกล้ชิดเท่านั้น
๒. ชนิดอันตราย นั่นคือ หยุดหายใจขณะหลับ อันเนื่องมาจากมีการอุดตันของทางเดินหายใจขณะหลับ ภาวะอุดตันทางเดินหายใจส่วนบน และระบบประสาทส่วนกลางผิดปกติ
นอนกรน ชนิดไม่อันตราย
ในขณะที่คนเรานอนหงายและหลับสนิท เนื้อเยื่อของอวัยวะต่างๆ ในช่องคอ เช่น ลิ้น ลิ้นไก่ เนื้อเยื่อบริเวณเพดานอ่อนจะตกไปทางด้านหลัง ในคนที่ช่องคอแคบกว่าปกติ เนื้อเยื่อเหล่านี้จะขวางกั้นทางเดินผ่านของอากาศจึงเกิดเสียงกรนขึ้น เสียงกรนเหล่านี้จะรบกวนคนที่นอนด้วยทำให้เกิดความรำคาญ หรือในรายที่อาการกรนตั้งแต่เริ่มหลับอาจรบกวนกระบวนการการนอนของผู้ป่วยเอง ทำให้นอนสะดุ้งบ่อยจากเสียงกรนของตนเอง
นอนกรน ชนิดอันตราย-หยุดหายใจขณะหลับ
ในภาวะที่ผู้ป่วยมีช่องลำคอตีบมากจากอวัยวะต่างๆ ในช่องคอ เช่น ลิ้น ลิ้นไก่ เพดานอ่อนหย่อนยานมากมีการขวางทางเดินหายใจจนถึงขนาดอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบน ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีอาการกรนไม่สม่ำเสมอ กรนเสียงดังมาก อาจมีอาการสำลักน้ำลาย หรือสะดุ้งตื่นกลางดึก หรือมีอาการหายใจหอบเหมือนอาการขาดอากาศ การขาดอากาศบ่อยครั้งทำให้เกิดผลกระทบต่อเนื่องต่อสุขภาพ ร่างกายหลายอย่าง
การหยุดหายใจขณะนอนหลับ ประกอบด้วย
๑. การหยุดหายใจ หมายถึง สภาวะที่ไม่มีลมหายใจผ่านเข้า-ออกทางจมูก หรือปาก เป็นเวลาอย่างน้อย ๑๐ วินาที
๒. หายใจแผ่ว หมายถึง สภาวะที่มีลมหายใจผ่าน เข้า-ออกทางจมูก หรือปากลดลงร้อยละ ๕๐ หรือมากกว่า เป็นเวลาอย่างน้อย ๑๐ วินาที โดยสังเกตได้จากการกระเพื่อมของทรวงอกและท้องลดลง
ขณะที่คนเราหยุดหายใจขณะหลับ ระดับออกซิเจนในหลอดเลือดแดงจะต่ำลง ทำให้ออกซิเจนที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ของร่างกายลดลงตามไปด้วย โดยเฉพาะหัวใจ สมอง ปอด 
เมื่อออกซิเจนในเลือดลดลงถึงระดับหนึ่ง ร่างกาย(โดยเฉพาะสมอง) จะมีกลไกตอบสนองภาวะนี้ โดยจะปลุกให้ตื่น มีอาการสะดุ้ง สำลักน้ำลายตนเอง เพื่อเปิดทางเดินหายใจและทำให้ออกซิเจนสามารถผ่านเข้าไปในปอดอีก แล้วสมองก็จะเริ่มหลับอีกครั้ง การหายใจจะเริ่มติดขัดอีก ระดับออกซิเจนในเลือดต่ำลง สมองก็จะปลุกให้ตื่นอีกเป็นเช่นนี้เรื่อยๆ ไปตลอดทั้งคืน ทำให้นอนหลับได้ไม่เต็มที่ การนอนหลับไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายมีผลกระทบถึงอวัยวะอื่นๆ เช่น ระบบหัวใจ ระบบไหลเวียนของเลือด สมอง ปอด ทำให้ความดันเลือดสูง เกิดภาวะโรคหัวใจขาดเลือด สุขภาพแย่ลงจนเป็นอันตรายแก่ชีวิตได้

สังเกตอาการตนเองอย่างไร
บางครั้งผู้ป่วยที่นอนกรน ไม่ทราบว่ามีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วยหรือไม่ อาจให้คนนอนข้างๆ สังเกตหรือพิจารณาว่ามีอาการเหล่านี้หรือไม่
๑. นอนกรนเสียงดัง
๒. รู้สึกนอนไม่เต็มตื่น อ่อนเพลียหลังตื่นนอน ทั้งที่มีเวลานอนเพียงพอ
๓. ตื่นนอนตอนเช้ามีอาการปวดศีรษะร่วมด้วย
๔. ง่วงนอนบ่อย หรือหลับง่ายในช่วงกลางวัน ขณะทำงานหรือเรียนหนังสือ จนถึงขั้นมีอันตรายเช่นอุบัติเหตุเกี่ยวกับรถยนต์ (หลับใน) หรืออุบัติเหตุเกี่ยวกับเครื่องจักรต่างๆ
๕. ความคิดการอ่าน ความสามารถในการจดจำลดลง
๖. หงุดหงิดง่าย อารมณ์เสียบ่อยกว่าปกติ
๗. ในเด็กอาจทำให้มีการเปลี่ยนแปลง ร่างกายไม่แข็งแรง ปัสสาวะรดที่นอน
ต้องการนอน "หลับสบาย"  ปรึกษาใคร
เมื่อรู้สึกว่ามีปัญหานอนกรนหรือสงสัยว่ามีอาการหยุดหายใจขณะหลับ นอกจากปรึกษาคนใกล้ชิดที่ช่วยสังเกตอาการขณะนอนหลับแล้ว ควรไปปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางหู คอ จมูก (โสต ศอ นาสิกแพทย์) และอายุรแพทย์ทางด้านโรคปอด ซึ่งจะให้การตรวจวินิจฉัยและดูแลรักษา ให้คำแนะนำที่เหมาะสมกับท่านได้ ตามสถิติแล้ว อาการนอนกรนและการหยุดหายใจจากการอุดตันทางเดินหายใจ ส่วนใหญ่พบในบุคคลที่มีน้ำหนักมากกว่ามาตรฐาน ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และเกิดมากขึ้นเมื่อสูงอายุมากขึ้น อย่างไรก็ตามแม้จะไม่พบปัจจัยเหล่านี้ผู้ป่วยก็ยังมีอาการกรนและหยุดหายใจขณะหลับ ควรพิจารณาถึงอาการและผลที่เกิดขึ้นตามมาจากการนอนที่ผิดปกติ เช่นอาการอ่อนเพลีย อาการปวดศีรษะตอนเช้า หรืออาการหมดสมรรถภาพทางเพศ หลับในช่วงกลางวันบ่อยๆ ประวัติการใช้ยา การดื่มสุรา ประวัติครอบครัว โรคความดันเลือดสูง โรคหัวใจ เป็นข้อมูลที่สำคัญในการดูและรักษา การใช้แบบทดสอบ สามารถช่วยบอกแนวโน้มของความผิดปกติได้

แนวทางการรักษา
การรักษาผู้ป่วยนอนกรน และหยุดหายใจขณะหลับแยกได้เป็น ๒ แนวทาง คือ การรักษาโดยไม่ผ่าตัด  และการรักษาโดยการผ่าตัด
การรักษาโดยไม่ผ่าตัด
๑. การควบคุมน้ำหนัก ในผู้ป่วยที่มีน้ำหนักเกินกว่ามาตรฐาน การพยายามลดน้ำหนักลง มีรายงานทางการแพทย์พบว่า ผู้ป่วยที่ลดน้ำหนักได้ร้อยละ ๗.๘ จะมีอัตราการนอนกรนลดลงถึงร้อยละ ๓๐ ผู้ป่วยนอนกรนที่ลดน้ำหนักตัวลงจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางของระบบทางเดินหายใจส่วนบนกว้างขึ้น นอกจากนั้นหรือในคนอ้วนที่ลดน้ำหนักจะทำให้สุขภาพด้านอื่นเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นด้วย
 ๒. หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ และยากล่อมประสาท แอลกอฮอล์และยากล่อมประสาทเป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ในผู้ป่วยที่นอนหลับยากควรเลี่ยงการดื่มสารที่มีกาเฟอีน
๓. การนอน ผู้ป่วยที่นอนหงายจะมีอาการกรนและหยุดหายใจ ขณะหลับได้บ่อยกว่านอนตะแคงหรือนอนคว่ำ ในสมัยก่อนมีการใช้ถุงใส่ลูกเทนนิส 3-4 ลูกติดไว้ด้านหลังของเสื้อนอน เพื่อบังคับให้ผู้ที่ใส่นอนตะแคงหรือนอนคว่ำ (sleep ball technique)
๔. การใช้เครื่องมือทางทันตกรรม เครื่องมือทางทันตกรรมที่ใช้นี้จะมีลักษณะคล้ายๆ  ฟันยางกันกระแทกของนักมวย แต่จะถูกดัดแปลงมาให้ปรับตำแหน่งของขอกรรไกรล่างให้เคลื่อนมาทางด้านหน้ากว่าภาวะปกติ ทำให้บริเวณลิ้นเคลื่อนมาทางด้านหน้าด้วย ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้คือ ลักษณะอาการคอแห้งปากแห้ง มีอาการอักเสบของข้อกราม หรือในรายที่เครื่องมือชำรุด ชิ้นส่วนอาจตกเข้าในปาก ลำคอ หรือเป็นสิ่งแปลกปลอมในหลอดลมได้
๕. การใช้เครื่องอัดอากาศเพื่อช่วยหายใจขณะนอนหลับ (CPAP) เป็นวิธีการป้องกันการตีบแคบของช่องลำคอ โดยใช้แรงดันอากาศเป็นตัวถ่างไว้ การใช้ CPAP (continuous positive airway pressure) เป็นการรักษาแบบเร่งด่วนอีกวิธีหนึ่ง ดังนั้น การใช้ CPAP มีข้อบ่งชี้คือ
 ก.  อาการหยุดหายใจขณะหลับอย่างรุนแรงในระดับมีอันตราย
 ข. ผู้ป่วยมีอาการระบบหายใจล้มเหลว
 ค. ผู้ป่วยมีออกซิเจนในเลือดลดลงมากอย่างรุนแรง
 ง. ผู้ป่วยมีอัตราเสี่ยงต่อการผ่าตัดสูง
 จ. ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดและไม่ได้ผล
 ฉ. ผู้ป่วยที่ไม่ต้องการรักษาโดยการผ่าตัด
      
โดยทั่วไปข้อห้ามในการใช้ CPAP มีได้ดังนี้
๑. ช่องจมูกตีบตันมาก
๒. แรงดันอากาศที่ใช้เปิดช่องทางเดินหายใจสูงเกินไป
๓. ควรงดใช้ CPAP ชั่วคราว ในขณะที่มีการติดเชื้อในทางเดินหายใจ
๔. มีลมรั่วเข้าช่องปอด
๕. ผู้ป่วยปัญญาอ่อนหรือผู้ป่วยโรคจิต

ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นจาก CPAP มีบ้างเล็กน้อย เช่น
๑. มีอาการระคายเคืองต่อเยื่อบุช่องจมูก พบได้ราวร้อยละ ๕๐ ของผู้ป่วยที่ใช้ CPAP
๒. มีอาการแสบตา เคืองตา ตาแห้ง จากกระแสลมรั่วจากหน้ากาก
๓. ลมเข้ากระเพาะอาหารทำให้ท้องอืดโดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีหูรูดหลอดอาหารย่อย
๔. นอนไม่หลับจากเสียงรบกวน รำคาญเครื่องมือที่ใช้
การใช้ CPAP สามารถแก้ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นทางเดนหายใจได้มากกว่าร้อยละ ๙๐ ใน ผู้ป่วยที่ทนต่ออุปกรณ์หน้ากากได้  ซึ่งมากกว่าร้อยละ ๕๐ ของผู้ป่วยมักเลิกใช้หลังจากใช้ไม่ได้เกิน ๓ เดือน
      
การรักษาโดยการผ่าตัด
จุดประสงค์ของการผ่าตัดในการรักษานอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบน คือ การขยายทางเดินหายใจให้กว้างขึ้น การที่จะพิจารณาผ่าตัดนั้น ต้องพิจารณาหลายปัจจัย ส่วนมากแล้วมักต้องตรวจการนอนก่อน ตำแหน่งที่จะทำการผ่าตัดขึ้นอยู่กับพยาธิสภาพของที่ตรวจได้ ซึ่งจะแบ่งได้เป็น ๓ ระดับคือ ระดับโพรงจมูก ระดับเพดานอ่อน และระดับโคนลิ้น
๑. การผ่าตัดโพรง
๒. การผ่าตัดภาวะตกแต่งเพดานอ่อนและลิ้นไก่
๓. การผ่าตัดตกแต่งเพดานอ่อนและลิ้นไก่โดยใช้แสงเลเซอร์  
๔. การผ่าตัดเลื่อนขากรรไกรล่างเพื่อดึงกล้ามเนื้อของลิ้นมาทางด้าน
๕. การผ่าตัดเลื่อนขากรรไกรบนและขากรรไกรล่างมา
๖. การรักษาโดยการใช้คลื่นความถี่วิทยุ       
๗. การผ่าตัดเจาะคอ       
นอนกรนในเด็ก
สำหรับเด็กอาจมีอันตรายจากการนอนกรนได้ โดยผลเสียที่เกิดได้ มีดังต่อไปนี้
๑. กรนเสียงดัง อ้าปากหายใจ หายใจแรง จนบางครั้งเห็นว่ามีรอยบุ๋มบริเวณหน้าอกและคอขณะหายใจเข้า
๒. พัฒนาการของสมองและร่างกายจะแย่ลง เพราะเกิดภาวะขาดออกซิเจนในขณะนอนหลับ
ใครบ้างที่นอนกรน
เพศชาย นอนกรนประมาณร้อยละ ๒๕
เพศหญิง นอนกรนประมาณร้อยละ ๑๕
ในกลุ่มอายุมากกว่า ๔๐ ปี เพศชายนอนกรนร้อยละ ๕๐ ในขณะที่เพศหญิงนอนกรนร้อยละ ๔๐
ในกลุ่มคนทั่วไปที่นอนกรน พบว่าร้อยละ ๑ หยุดหายใจขณะหลับ
สำหรับในกลุ่มผู้ชายสูงอายุและอ้วน พบหยุดหายใจขณะหลับร้อยละ ๑๐

อะไรทำให้ "นอนกรน" และหยุดหายใจขณะหลับ
๑. อายุ  ในคนที่มีอายุมาก เนื้อเยื่อต่างๆ ขาดความตึงตัว กล้ามเนื้อหย่อนยาน รวมทั้งช่องทางเดินหายใจบริเวณคอแคบลง ลิ้นไก่และลิ้นตกไปบังทางเดินหายใจได้ง่าย
๒. เพศ  เพศชายมีอุบัติการณ์การนอนกรนและภาวการณ์หยุดหายใจขณะหลับจากการอุดตันทางเดินหายใจส่วนบนมากกว่าเพศหญิง เชื่อว่าฮอร์โมนของเพศหญิงมีส่วนทำให้กล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ขยายช่องทางเดินหายใจ มีความตึงตัวที่ดีกว่า
๓. ลักษณะโครงสร้างของกระดูกใบหน้า คนที่มีคางสั้นมาก กระดูกใบหน้าแบน จะมีผลทำให้ช่องทางเดินหายใจส่วนบนแคบกว่าปกติ
๔. ความอ้วน  ผู้ที่มีน้ำหนักมากจะมีการสะสมของไขมันมากบริเวณลำคอและทรวงอก ทำให้ช่องทางเดินหายใจแคบลง การเคลื่อนไหวของหน้าอกแย่ลง
๕. การดื่มสุรา ยาคลายเครียด และยานอนหลับ ทำให้กล้ามเนื้อมีอาการอ่อนแรง รวมถึงกล้ามเนื้อในลำคอ เกิดการอุดตันทางเดินหายใจได้ง่าย นอกจากนี้แอลกอฮอล์และยายิ่งมีผลกดการทำงานของสมองให้ช้ากว่าปกติ
๖. การสูบบุหรี่  ทำให้ระบบทางเดินหายใจมีประสิทธิภาพแย่ลง
๗. กรรมพันธุ์ การนอนกรนถือว่าเป็นสิ่งผิดปกติ หากทางเดินหายใจโล่งดีไม่ควรมีเสียงกรนเกิดขึ้น 
แต่อันตรายของการกรนจะมากหรือน้อย ขึ้นกับว่าสุขภาพของบุคคลนั้นเป็นอย่างไร และมีการหยุดหายใจ (Apnea) ร่วมด้วยหรือไม่
ดังนั้นเราจึงอาจแบ่งการนอนกรนได้เป็น ๒ ชนิดคือ
กรนธรรมดา (Habitual Snoring)
อาจเรียกว่า “กรนรำคาญ” ผู้ป่วยในกลุ่มนี้ไม่มีการหยุดหายใจร่วมด้วย 
อันตรายของการกรนจึงเกิดจากการสร้างความรำคาญให้แก่คนข้างเคียง 
จนในบางรายอาจถึงขั้นมีปัญหากับคู่สมรส ต้องแยกห้องนอน
กรนที่มีการหยุดหายใจร่วมด้วย (Obstructive Sleep Apnea)
เป็นชนิดที่มีอันตราย เนื่องจากในช่วงที่หยุดหายใจ ระดับความเข้มข้นของออกซิเจนในกระแสเลือดจะลดลงเป็นช่วงๆ ก่อให้เกิดอาการต่างๆ เช่น นอนไม่อิ่ม สะดุ้งตื่นบ่อยๆ ปวดศีรษะช่วงเช้า ง่วงนอนในตอนกลางวัน เผลอหลับในบ่อยๆ สมาธิสั้น หงุดหงิดง่าย และจากการศึกษาในปัจจุบันยังพบว่าผู้ที่มีการหยุดหายใจร่วมด้วยในระดับรุนแรงจะมีอัตราการตายสูงกว่าประชากรทั่วไป และเพิ่มอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆที่สำคัญได้แก่ โรคหัวใจขาดเลือด ความดันโลหิตสูง อัมพฤกษ์ อัมพาต

การรักษา
ขึ้นกับชนิดของการนอนกรน และระดับความรุนแรง 
โดยถ้ามีการหยุดหายใจร่วมด้วย ไม่ควรปล่อยไว้โดยไม่รักษา อาจแบ่งการรักษาออกได้เป็น
1. การรักษาทั่วไป หลีกเลี่ยงสาเหตุเสริมต่างๆ ทำได้โดย ลดน้ำหนัก, ออกกำลังกาย, ปรับการนอน ไม่นอนหงาย, งดดื่มเครื่องดื่มที่มี แอลกอฮอล์, หลีกเลี่ยงยาบางประเภท รวมทั้งรักษาโรคที่เกี่ยวข้อง เช่น ภูมิแพ้ โรคในโพรงจมูก ซึ่งต้องรักษาก่อนที่จะไปรักษาโดยใช้วิธีอื่น
2. การรักษาโดยใช้เครื่องเพิ่มความดันของอากาศในช่องทางเดินหายใจ ซึ่งจะทำให้ช่องทางเดินหายใจถ่างกว้างออกจึงไม่เกิดเสียงขณะหายใจ และไม่เกิดการหยุดหายใจเครื่องมือดังกล่าวเรียกว่า Nasal CPAP (continuous positive airway pressure) การรักษาโดยใช้ Nasal CPAP นี้ถือว่าเป็นการรักษาที่ได้ผลดีในผู้ป่วยเกือบทุกรายหากผู้ป่วยสามารถทนใช้เครื่องได้ แต่ผู้ป่วยบางส่วนไม่สามารถทนใช้เครื่องได้เนื่องจากรู้สึกรำคาญที่ต้องใช้เครื่องขณะนอนหลับ
3. การผ่าตัด มีหลายวิธีขึ้นกับระดับความรุนแรง ความพอใจของผู้ป่วยแต่ละราย รวมทั้งความชำนาญของแพทย์ผู้รักษา ตัวอย่างของการผ่าตัดได้แก่
- การผ่าตัดบริเวณต่อมทอนซิลและลิ้นไก่ เพื่อลดขนาดของเนื้อเยื่อบริเวณนี้ ซึ่งจะส่งผลให้ช่องทางเดินหายใจกว้างขึ้นและการสั่นสะเทือนขณะหลับน้อยลงจึงลดเสียงกรนและลดการหยุดหายใจที่เกิดจากอุดกั้นของทางเดินหายใจ
- การใช้คลื่นความถี่สูง เพื่อลดขนาดของเนื้อเยื่อบริเวณ เพดานอ่อน, ลิ้นไก่, โคนลิ้น, ต่อมทอนซิล และทำให้เนื้อเยื่อกระชับขึ้น
- การผ่าตัดเพื่อลดความอ้วน เนื่องจากความอ้วนเป็นสาเหตุของการกรนและการอุดกั้นทางเดินหายใจ แต่ควรพิจารณาเฉพาะในรายที่อ้วนมากๆเท่านั้น
- การผ่าตัดยืดขากรรไกรและแก้ไขโครงสร้างของใบหน้า ได้ประโยชน์ในรายที่การกรนเกิดจากโครงสร้างของใบหน้าผิดปกติ
- การเจาะคอ ใช้ในรายที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีอื่นแล้ว โดยเฉพาะในรายที่มีการอุดกั้นทางเดินหายใจรุนแรงและไม่สามารถใช้ Nasal CPAP ได้
การกรน นอกจากเป็นที่น่ารำคาญต่อผู้อื่นแล้ว ยังเกิดผลเสียต่อตนเองอีกด้วย เพราะอาจเป็นทำให้เกิดของโรคต่างๆ มากมาย ทั้ง โรคความดันโลหิต โรคหัวใจ หรือร้ายแรงถึงขั้นอัมพาต  
ดังนั้น มีคำแนะนำเกี่ยวกับการกินสำหรับผู้ที่นอนกรน เพื่อบรรเทาอาการนอนกรนในเบื้องต้นมาฝาก  
หอมแดง 
     สมุนไพรที่มีฤทธิ์ในการช่วยเรื่องระบบทางเดินหายใจ เหมาะใช้ประกอบอาหารให้ผู้ที่นอนกรนรับประทาน 

ความคิดเห็น