การแก้สิวอุดตัน

สิวอุดตัน

สิวอุดตัน นับว่าเป็นสิวที่สร้างความกวนใจต่อผู้ที่ต้องเผชิญอยู่ไม่น้อย เพราะสิวอุดตันคือสิวที่พบได้มากที่สุด ซึ่งมันจะผุดขึ้นมาบนใบหน้าของเราและสร้างความรำคาญใจให้กับเจ้าของใบหน้า เพราะมันทำให้ผิวดูไม่เรียบเนียน ขรุขระเป็นตุ่มเป็นเนิน แม้ว่าสิวชนิดนี้จะดูสงบเสงี่ยมเจียมตัวไม่สร้างความเจ็บปวด แต่มันก็ดื้อด้านพอสมควร ไม่มีทางหายไปได้เอง พูดง่าย ๆ ว่าถ้าไม่รีบกำจัดออกมันก็จะยิ่งอัดแน่นในรูขุมขุมขนและอาจลุกลามจนเกินเยียวยา จนเข้าขั้นเป็นสิวโคม่าเลยทีเดียว
พึงระลึกไว้เถอะว่าถ้าสิวอุดตันฝังอยู่บนหน้าเรานานแค่ไหน ยามที่เราเอามันออกมามันจะทิ้งหลุมลึกไว้ (ลึกตามระยะเวลาที่มันสิงสถิตอยู่บนใบหน้าของเรา) แถมรูขุมขนก็ใหญ่ขึ้นตามขนาดของเม็ดสิวอีกด้วย เรียกได้ว่า เจ้าสิวอุดตันนี่แหละที่เป็นตัวการสำคัญทำให้ผิวหน้าที่เคยเรียบเนียนของเราต้องกลายเป็นหลุมเป็นบ่อแบบพระจันทร์

ชนิดของสิวอุดตัน

  • สิวอุดตันชนิดที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า(Microcomedone) โดยธรรมชาติของมนุษย์เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น จะเริ่มมีการสร้างฮอร์โมนที่เรียกว่าแอนโดรเจน ต่อมไขมันจะเริ่มตอบสนองต่อฮอร์โมนตัวนี้ ทำให้มีการหลั่งไขมันมากขึ้น นอกจากนี้แอนโดรเจนยังไปกระตุ้นให้มีการสร้างเซลล์ชั้นขี้ไคลของรูขุมขนได้ด้วย จนทำให้เกิดลักษณะที่เรียกว่า “ไมโครโคมีโดน” ซึ่งเป็นต้นเหตุของการเกิดสิวทั้งหลาย ซึ่งไมโครโคมีโดนนี้อาจจะหายไปได้เองหรือพัฒนาต่อไปกลายเป็นสิวลักษณะอื่น ๆ ได้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยร่วมบางอย่าง เช่น หากมีการสะสมของไขมันและเซลล์ชั้นขี้ไคลมากขึ้นเรื่อย ๆ จะทำให้เกิดสิวอุดตันหัวเปิดหรือสิวอุดตันหัวปิด แต่ถ้ามีแบคทีเรีย P. acne ก็จะกลายเป็นสิวอักเสบ
    Microcomedone
  • สิวอุดตันหัวเปิด (Open comedone) ชนิดนี้จะมีหัวสีดำ หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “สิวหัวดำ” (Black head) สิวแบบนี้เราสามารถบีบหรือกดมันออกได้ แต่ต้องทำอย่างถูกวิธี เพราะไม่อย่างนั้นจะทำให้เกิดการอักเสบจนกลายเป็นสิวอักเสบได้ โดยสิวหัวดำจะมีลักษณะเป็นตุ่มนูนเล็กน้อย มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 0.1-3 มิลลิเมตร หากสังเกตดี ๆ จะมีจุดดำอยู่ตรงกลาง ซึ่งจุดเหล่านี้เป็นกลุ่มเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว ไขมัน และเชื้อ P. acne ที่อุดอยู่ในท่อเปิดของต่อมไขมัน
    สิวหัวดำ
  • สิวอุดตันหัวปิด (Closed comedone) ชนิดนี้จะมีลักษณะเป็น “สิวหัวขาว” (White head) สิวประเภทนี้จะไม่มีหัวให้เรากดออก แล้วถ้าเรายิ่งไปกดไปบีบไขมันที่ไม่มีทางออกจะทะลักกลับไปในผิว ทำให้เนื้อเยื่อเสียหายได้ โดยจะมีลักษณะเป็นตุ่มนูนเล็กน้อย มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.1-3 มิลลิเมตร มีสีเดียวกับผิวหนังปกติ สิวชนิดนี้จะเกิดจากการอุดตันสะสมอยู่ในท่อเปิดของต่อมไขมันและรูขุมขน แต่ท่อเปิดจะเล็กมากจนมองไม่เห็น และสิวหัวปิดขนาดใหญ่อาจอยู่ได้นานหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน และประมาณ 75% ของสิวชนิดนี้จะกลายไปเป็นสิวอักเสบ
    สิวหัวขาว
สาเหตุการเกิดสิวอุดตัน
หลายคนสงสัยว่าเจ้าสิวอุดตันนั้นมันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร เป็นเพราะเราสกปรกเกินไปอย่างนั้นหรือ จริง ๆ แล้วเจ้าสิวอุดตันนั้นมีสาเหตุมาจากต่อมไขมันทำการสร้างน้ำมันมากเกินไปนั่นเอง โดยสิ่งที่ควบคุมการผลิตน้ำมันบนใบหน้าก็คือ ฮอร์โมนแอนโดรเจน (androgen) เมื่อเจ้าต่อมนี้ผลิตน้ำมันออกมาเยอะจนเหลือใช้แล้วตกค้างอยู่ในรูขุมขน มันก็จะไปรวมตัวกับเซลล์ผิวที่ตายแล้ว เหตุนี้เองจึงทำให้น้ำมันนั้นข้นหนืดจนระบายออกไปไม่ได้ แต่ส่วนที่ระบายออกมาได้เราก็จะสังเกตได้ด้วยตาเปล่าเลยว่าหน้าจะมันแผล็บหรือเยิ้มไปด้วยน้ำมัน แล้วเวลาที่หน้ามันมาก ๆ จึงทำให้บางคนหันมาใช้กระดาษซับมันซับหน้าทั้งวัน เพราะคิดว่าเป็นการแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดที่จะช่วยกำจัดความมันออกไปได้ แต่รู้มั้ยว่าการทำแบบนี้จะยิ่งเป็นการกระตุ้นให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันออกมามากขึ้น ถ้าเลี่ยงได้ก็ขอให้เลี่ยงเถอะ
ถ้าพูดถึงฮอร์โมน เราจะไปโทษฮอร์โมนอย่างเดียวก็ดูจะไม่เป็นธรรมนัก เพราะนอกจากสาเหตุนี้ที่ทำให้เกิดสิวอุดตันแล้ว ก็ยังมีเรื่องอื่น ๆ อีก ที่อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดสิวอุดตันขึ้นมาได้ เช่น เรื่องของความเครียด ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงในช่วงใกล้หมดประจำเดือน การแพ้เครื่องสำอาง ปัญหาผิวแพ้ง่าย การล้างหน้าไม่สะอาด จากยาสเตียรอยด์ หรือรับประทานยา Prednislone เป็นประจำ เป็นต้น

วิธีกําจัดสิวอุดตัน

  1. ดูแลตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการรักษาความสะอาดบนใบหน้า เลือกใช้เครื่องสำอางให้เหมาะกับสภาพผิว เพราะความสกปรกที่เกิดขึ้นมาจากความไม่ตั้งใจของเรา ไม่ว่าจะเป็นการลืมล้างมือแล้วเอามือไปสัมผัสใบหน้า หรือบางคนมีผิวหน้าบอบบางแพ้ง่าย แต่ยังใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำหอม เหล่านี้อาจเป็นตัวการทำให้เกิดสิวได้ เลี่ยงการสัมผัส เช็ดถูหน้า หรือนวดหน้าแรง ๆ พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ ดื่มน้ำให้มาก ๆ ในแต่ละวัน เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ งดอาหารที่มีไขมันสูง หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีมลพิษมาก ๆ และสถานที่อับชื้น ฯลฯ หากรักษาตามวิธีด้านล่างแล้วแต่ยังไม่ได้ผล แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผิวหนังจะดีที่สุด เนื่องจากสิวอาจเกิดมาจากกรรมพันธุ์ก็ได้
  2. หลีกเลี่ยงแสงแดด แสงแดดเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผิวหน้าที่เป็นสิวอยู่แล้วเผชิญกับภาวะที่รุนแรงมากขึ้น หากเราไม่ป้องกันแสงแดดที่จะกระทบต่อผิวหน้าของเราโดยตรง โดยในระหว่างการใช้ยาทารักษาสิวอุดตันเราจำเป็นต้องใช้ครีมกันแดดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะผลิตภัณฑ์รักษาสิวส่วนใหญ่นั้นมักมีผลทำให้ผิวหน้าไวต่อแสง และที่สำคัญอย่าลืมล้างครีมกันแดดออกให้สะอาดหมดจดด้วยล่ะ เพราะไม่อย่างนั้นมันจะเกิดการอุดตันซ้ำซ้อนบนใบหน้าของเราได้จนรักษาไม่จบไม่สิ้นสักที
  3. ควบคุมความมันบนใบหน้า เมื่อเราผ่านขั้นตอนการกำจัดสิวอุดตันออกมาจากผิวได้แล้ว สิ่งที่ควรทำอีกอย่างก็คือ ควรลดน้ำมันบนใบหน้าควบคู่ไปด้วย และอย่าให้อะไรมาอุดตันรูขุมขนของเราได้ ถ้าผิวหน้าไม่แพ้ AHA และ BHA เราอาจใช้ผลิตภัณฑ์ทั้งสองตัวนี้เป็นประจำเพื่อช่วยในการป้องกันการเกิดสิวได้
  4. ใช้เบนซอยล์เพอร์ออกไซด์ หรือ เบนโซอิลเปอร์ออกไซด์ (Benzoyl peroxide – BP) หรือ ยาบีพี (สามารถช่วยลดสิวอุดตันได้ในระดับปานกลาง) มีอยู่หลายยี่ห้อด้วยกัน เช่น Benzac ACEnzoxidBrevoxyl(Water based), PanOxyl (Alcohol based), ACNEXYL(เนื้อเจล) เพียงแค่คุณนำมาใช้ทาให้ทั่วหน้าก่อนการล้างหน้าวันละ 2 ครั้ง ทั้งเช้าและเย็นหรือก่อนนอน โดยให้ทาทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที แล้วจึงล้างออกด้วยน้ำสะอาด ยาประเภทนี้จะออกฤทธิ์ไปลดปริมาณไขมันที่ผิวหนังและช่วยละลายสิ่งสกปรกที่อุดตันตามรูขุมขน จึงช่วยลดการอุดตันของต่อมไขมันได้ สำหรับผู้เริ่มใช้ควรใช้ที่ขนาดความเข้มข้นต่ำก่อนนะครับ หรือขนาด 2.5% เมื่อผิวเริ่มชินกับยาแล้ว จึงค่อย ๆ เพิ่มระยะเวลาการทาให้นานขึ้น และเพิ่มความเข้มข้นของยาเป็น 5% หรือ 10% ไขมันที่อุดตันก็จะถูกละลาย และสามารถกดออกมาได้โดยง่าย
    เบนซอยเพอร์ออกไซด์
  5. ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเรตินอยด์ (Retinoids) หรือ ยาละลายสิวอุดตัน เป็นสารสกัดจากอนุพันธ์ของวิตามินเอ (สามารถลดสิวอุดตันได้ในระดับดี) มีสรรพคุณช่วยละลายไขมันที่อุดตันให้อ่อนตัวและหลุดออกมาได้ง่ายขึ้น แต่ยาทาจำพวกนี้ก็มีผลข้างเคียงที่อาจทำให้ผิวแห้ง แดงและลอก ไม่สามารถใช้กับสตรีตั้งครรภ์ได้ อีกทั้งการใช้ยากลุ่มนี้ก็ควรใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์ผิวหนัง โดยยี่ห้อที่รู้จักกันดีและได้รับความนิยมอย่างล้นหลามก็คือ เรตินเอ (Retin-A) ครับ ซึ่งจะมีความเข้มข้นตั้งแต่ 0.025%, 0.05% และ 0.1% ยิ่งมีความเข้มข้นสูงมากเท่าไหร่ก็ยิ่งละลายสิวอุดตันได้ดีเท่านั้น แต่ก็ทำให้ระคายเคืองผิวมากขึ้นด้วยเช่นกัน ดังนั้นผู้เริ่มใช้ใหม่ ๆ คุณควรใช้แบบความเข้มข้น 0.025% ไปก่อนครับ หลังการใช้อาจทำให้ผิวหน้าแห้งลอกออกเป็นขุยและทำให้สิวเห่อขึ้นได้ แต่หลังจากใช้ไปสักระยะหนึ่งแล้ว ผิวหน้าของคุณก็ค่อย ๆ ดูสดใสมากขึ้น ไม่มีสิวกวนใจ แถมริ้วรอยตื้น ๆ ยังจางลงอีกด้วย (ภาพ : pantip.com by KhongkwanNK)
    เรตินเอแม้ยาชนิดนี้เป็นยาที่ได้รับการแนะนำให้ใช้มากที่สุด แต่ก็พบว่ามีคนแพ้มากกว่ายาตัวอื่นเช่นกัน ปัจจุบันจึงทำให้มีผลิตภัณฑ์เพิ่มเข้ามาอย่าง ทาซาโรทีน (Tazarotene) ยี่ห้อ Tazorac® และ อะดาพาลีน (Adapalene) ยี่ห้อ Differin® ซึ่งยาทาเหล่านี้ถ้าคุณไม่ใจเย็นและใจแข็งในการใช้จริง ๆ ก็อาจทำให้ถอดใจล้มเลิกไปกลางคันได้ เพราะตัวยามันจะเข้าไปทำให้ไขมันที่อุดตันในรูขุมขนดันตัวออกมาจากรูขุมขน เลยทำให้เหมือนจะเป็นสิวเยอะขึ้น (สิวเห่อ) หลายคนจึงรับไม่ได้กับสภาพหน้าของตัวเอง จนเป็นเหตุให้หยุดใช้ยาไปเสียก่อน ยิ่งบางคนที่มีแบคทีเรีย P.acne รออยู่บนผิวเยอะ ก็จะยิ่งทำให้มีอาการอักเสบมากขึ้นเข้าไปใหญ่เลยล่ะ แต่อย่างที่บอกถ้าเราไม่เอามันออก มันก็จะอยู่กับเราตลอดไป ถ้าใครรักษาและอยู่ในช่วงนี้ก็ขอให้ทำใจไว้เลย หากผ่านมันไปได้ในอนาคตใบหน้าอันสดใสก็ไม่ไกลเกินเอื้อมมืออย่างแน่นอน และนอกจากนี้สารสกัดจากวิตามินเอจะช่วยเรื่องสิวแล้ว มันยังช่วยเรื่องริ้วรอยบนผิวหน้าได้อีกด้วย ยิ่งถ้าใช้อย่างต่อเนื่องกันนาน 3 เดือน รูขุมขนจะกระชับขึ้นและสิวลดลงอย่างแน่นอน 🙂
    ยาอะดาพาลีน
  6. เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ประเภท AHA และ BHA สำหรับใครที่ไม่สามารถใช้ Retinoids ได้ คุณอาจใช้สารสกัดประเภท AHA (Glycolic acid) และ BHA (Salicylic acid) ก็ได้ ซึ่งยาเหล่านี้จะมีทั้งในรูปแบบโลชั่นและของเหลวให้เลือกใช้ แม้ว่ามันจะให้ผลช้ากว่า แต่ก็มีผลข้างเคียงน้อยกว่าด้วย โดยในส่วนของ AHA นั้นจะทำหน้าที่ช่วยกำจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว เมื่อเรากำจัดมันได้ ก็เหมือนเป็นการป้องกันการเกิดสิวไปได้ในตัว ส่วน BHA นั้นมันจะลงลึกเข้าไปในรูขุมขนเพื่อละลายไขมัน (ลดสิวอุดตันได้ในระดับปานกลาง) คนที่ใช้ BHA เป็นประจำจึงทำให้สิวอุดตันจะถามหาได้ยากมาก แม้ว่าจะไม่สามารถทำให้สิวที่แข็งตัวนั้นหลุดออกมาได้ก็ตาม แต่ก็สามารถทำให้มันอ่อนตัวและเอาออกมาได้โดยง่าย
    ฺBHA
  7. ยารับประทานกลุ่ม Retinoids อย่างเช่น Roaccutane, Isotretionoin ซึ่งมีขนาดตั้งแต่ 10 และ 20 mg. (ใช้ตามลักษณะความรุนแรงของอาการ) เป็นยาที่ช่วยลดการทำงานของต่อมไขมันในร่างกาย ทำให้หน้าแห้ง หน้ามีความมันน้อยลง และยังลดคอมีโดนที่เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดสิว เมื่อต่อมไขมันไม่ผลิตไขมัน สิวก็จะไม่เกิด แต่เนื่องจากเป็นยากลุ่มที่มีผลต่อตับอย่างรุนแรง อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงได้ เช่น ตาพล่ามัว มีอาการปวดข้อตามร่างกาย และยานี้ต้องจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น สตรีมีครรภ์ห้ามรับประทานโดยเด็ดขาด
    แอคโนติน
  8. การลอกหน้าผลัดเซลล์ผิว (Chemical Peeling) ด้วยการใช้น้ำยาเคมีนำมาทาบนผิวหน้าเพื่อทำให้เกิดการหลุดลอกของเซลล์ผิวหนังชั้นบน ตามมาด้วยการสร้างเซลล์ผิวใหม่ขึ้นมาทดแทน โดยสารเคมีที่นิยมนำมาใช้ก็ได้แก่ AHA หรือ Glycolic acid 30-70%, BHA หรือ Salicylic acid 30-50%, TCA หรือ Trichloroacetic acid 10-30%, Phenol (carbolic acid), Jessner’s solution เป็นต้น เพื่อเป็นการช่วยลดการอุดตันของรูขุมขน ทำให้สิวอุดตันฝ่อตัวและหลุดออกมาได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตามการใช้วิธีนี้มักจะได้ผลในระยะเวลาสั้น ๆ คุณอาจต้องทายาร่วมด้วยเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำอีก
  9. กดสิวอุดตัน อีกหนึ่งวิธีกําจัดสิวอุดตันที่ใช้ได้เฉพาะกับสิวอุดตันหัวเปิดเท่านั้น และควรทำโดยผู้ที่เชี่ยวชาญและมีอุปกรณ์การกดสิวที่มีคุณภาพเท่านั้น ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันการเกิดแผลเป็นและหลุมสิวในภายหลัง ส่วนขั้นตอนการทำนั้นแพทย์จะใช้เข็มฆ่าเชื้อจิ้มไปที่หัวสิวเพื่อให้หัวสิวเปิด หลังจากนั้นแพทย์จะใช้ที่กดสิวกดลงไปตรงสิวที่ใช้เข็มจิ้มเอาไว้ โดยให้สิวอยู่ตรงกลางหรืออยู่ในทิศทางที่เราจะกด แล้วค่อย ๆ ออกแรงกดลงไป วิธีนี้จะทำให้สิวอุดตันหลุดออกมาได้โดยง่าย (ภาพ : erk-erk.com)
    วิธีกดสิว
  10. การทำไอออนโตหรือโฟโน เป็นการใช้เครื่องมือรักษาสิวอุดตันร่วมกับการใช้เจลวิตามินเอ ซึ่งเครื่องมือประเภทนี้จะช่วยในการผลักยาหรือวิตามินให้ซึมลึกเข้าสู่ผิว ซึ่งวิตามินเอจะช่วยละลายสิวอุดตัน การทำในช่วงแรก ๆ อาจทำให้ผิวหน้าแห้ง ลอกเป็นขุย ทำให้สิวอุดตันหลุดออกมาได้โดยง่าย ระหว่างการรักษาสิวอุดตันที่มีอยู่เดิมอาจจะเห่อขึ้นมาก่อน (แล้วจะหายในภายหลัง) หากทำเป็นประจำหน้าจะใสขึ้นมาก โดยแนะนำให้ทำสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ซึ่งจะเห็นผลได้เร็วกว่าการทายาในกลุ่มวิตามินเอแน่นอน โดยเครื่องไอออนโตจะให้ผลในการผลักวิตามินได้ดีกว่าเครื่องโฟโน แต่ข้อเสียของเครื่องไอออนโตคือ เวลาทำจะรู้สึกช็อตจี๊ด ๆ ที่หน้า ไม่เหมือนเครื่องโฟโนที่ทำแล้วรู้สึกสบาย ส่วนราคาในการทำต่อครั้งก็ประมาณ 200-500 บาท
  11. การกรอผิวด้วยเกร็ดอัญมณี (Microdermabrasion – MD) เป็นการผลัดผิวหน้าในส่วนของความลึกระดับผิวหนังกำพร้า ด้วยการพ่นคริสตัลซึ่งทำด้วยผลึกอลูมิเนียมออกไซด์ขนาดเล็ก เพื่อช่วยในการผลัดผิว ผลที่ได้รับก็คือจะทำให้ผิวหนังส่วนที่มีรอยคล้ำ รอยบุ๋มจากแผลเป็นหรือหลุมสิวที่เกิดในชั้นผิวหนังถูกกำจัดออกไป จนเกิดการสร้างผิวหนังขึ้นมาใหม่ วิธีนี้นอกจากจะช่วยลดรอยดำ แผลเป็น และหลุมสิวได้แล้ว ยังช่วยทำให้สิวที่อุดตันหลุดออกมาได้ง่ายขึ้น (แต่วิธีนี้ค่อนข้างจะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ถ้าจะรักษาสิวอุดตันโดยเฉพาะ ก็ไม่แนะนำให้ทำครับ)
  12. เลเซอร์สิวอุดตัน อย่างการใช้เลเซอร์ CO2 เหมาะสำหรับคนที่เป็นสิวอุดตันจำนวนมาก อยู่ลึก กดออกได้ยาก หรือกดไม่ออกเลย (ถึงขนาดเอาเข็มจิ้มเปิดหัวก็ยังไม่ยอมออก) ซึ่งการกําจัดสิวอุดตันด้วยเลเซอร์นี้จะมีประสิทธิภาพดีมากกับสิวอุดตันที่อยู่ลึก ๆ โดยไม่ทำให้เกิดรอยแผลเป็นและไม่มีเลือดออก แต่ต้องทำอยู่โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านผิวหนังนะครับ ระหว่างการทำเลเซอร์อาจมีเจ็บจี๊ดบ้าง แต่ก็อยู่ในระดับที่พอทนได้ครับ
  13. สูตร BP + AHA สำหรับสูตรนี้ถือเป็นสูตรเร่งรัดสำหรับคนที่มีสิวอุดตันขึ้นก่อนถึงวันสำคัญ เป็นสูตรเร่งด่วนที่จะช่วยทำให้สิวยุบตัวลงได้อย่างรวดเร็ว วิธีการก็คือให้เราใช้ BP มาสู้กับสิวอุดตันเพื่อป้องกันการอักเสบ จากนั้นก็ตามด้วย AHA หรือ BHA ก็ได้ (เพื่อช่วยกำจัดสิ่งสกปรกและละลายไขมันให้ยุบตัวลง) เมื่อลงผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไปแล้ว สิวจะเริ่มแห้งและยุบตัวลง พอมันแห้งเราก็แค่ใช้การแต่งหน้ากลบ โดยเลือกคอนซีลเลอร์ที่ใช้สำหรับกลบรอยสิวโดยเฉพาะ (ห้ามลงเมคอัพตัวอื่นในบริเวณที่เราลงคอนซีลเลอร์) แต่อย่าลืมว่าถ้าเสร็จธุระแล้วก็ต้องรีบล้างเครื่องสำอางออกจากผิวหน้า เพื่อป้องกันไม่ให้มีสิวเพิ่มขึ้น
  14. สูตร BP + AHA / BHA + ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเรตินอยด์เป็นสูตรสำเร็จในการรักษาสิวอุดตันอย่างได้ผล โดยเริ่มจากให้คุณใช้ยา BP นำมาทาให้ทั่วหน้าก่อนการล้างหน้าทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที (วันละ 2 ครั้ง เช้าและก่อนนอน) แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด (ยาชนิดนี้จะช่วยฆ่าเชื้อ P.acne ลดปริมาณไขมันที่ผิว และช่วยละลายสิ่งสกปรกที่อุดตันรูขุมขน จึงช่วยลดการอุดตันของต่อมไขมันได้ ประมาณว่าลดการเกิดสิวใหม่) จากนั้นตามด้วยการทา AHA หรือ BHA เพื่อช่วยกำจัดสิ่งสกปรกและละลายไขมันให้อ่อนตัวลง แล้วก็ตามด้วยผลิตภัณฑ์ประเภทเรตินอยด์ เพื่อช่วยละลายสิวอุดตัน (จะเลือกใช้เรตินเอหรือดิฟเฟอรินก็ได้ครับ ตามความเหมาะสม) แถมอีกนิดว่ายาประเภทนี้จะค่อนข้างไวต่อแสง แนะนำว่าถ้าทาเสร็จแล้วก็ให้รีบปิดไฟแล้วรอประมาณ 20 นาที ก่อนจะลงยาตัวต่อไป (แต่ถ้าใจร้อนก็รอให้ยาแห้งพอก็ได้) ในกรณีที่เป็นสิวอักเสบด้วยก็ให้แต้มหัวสิวอักเสบด้วยคลินดามัยซิน แล้วตามด้วยการบำรุงผิว ส่วนตอนกลางวันนั้นก็แค่ใช้บีพีแล้วล้างหน้าตามปกติ ทาครีมบำรุง และตามด้วยครีมกันแดด เป็นอันจบครับ ทำได้ประมาณ 1-3 เดือน รับรองได้เลยว่า หล่อสวยกันทุกคนครับ
  15. สูตรมะเขือเทศ สำหรับสิวอุดตันที่ไม่มีหัว ถ้าเราไม่พึ่งหมอให้เจาะออกก็คงต้องทำให้ยุบลงเอง ด้วยการใช้สูตรมะเขือเทศซึ่งเป็นสูตรที่ทำได้บ่อย ๆ (มะเขือเทศอุดมไปด้วยวิตามินเอซึ่งมีคุณสมบัติช่วยกำจัดน้ำมันส่วนเกินและทำให้รูขุมขนเล็กลงได้) โดยการนำมะเขือเทศลูกแดง ๆ มาฝานแล้วถูให้ทั่วใบหน้า ทิ้งไว้ประมาณ 10-15 นาที แล้วล้างออก เพียงเท่านี้สิวอุดตันก็ยุบตัวลง และมีหัวให้เราพอกำจัดมันออกมาได้ (ถ้าคุณเป็นคนผิวแห้ง หลังทำแล้วหน้าตึงมาก ก็ควรเว้นระยะการทำจากสัปดาห์ละครั้งเป็นสองสัปดาห์หนึ่งครั้งแทน)
    รักษาสิวอุดตัน
  16. สูตรหอมแดง เป็นสูตรที่ใช้ได้กับทุกสภาพผิว ด้วยการนำหอมแดงมาหั่นเป็นแว่น ๆ บาง ๆ หั่นเสร็จแล้วก็ขยี้หอมแดงแล้วนำมาทาที่หน้าทิ้งไว้ประมาณ 15 นาที แล้วล้างออก ระหว่างรออาจแสบจนน้ำตาไหลได้ (เวลาทาก็พยายามหลีกเลี่ยงไม่ทาใกล้ตามากจนเกินไป) แต่ว่าผลที่ได้ก็ถือว่าเป็นที่น่าพอใจ เพราะหลังทำเสร็จเจ้าสิวอุดตันจะยุบตัวลง บางหัวก็โผล่ขึ้นมาให้เห็นเป็นหัวดำ ๆ อีกทั้งรอยดำจากการแกะสิวก็ยังจางลงอีกด้วย ส่วนสาเหตุที่หอมแดงสามารถนำมาใช้รักษาสิวได้นั้น ก็เนื่องมาจากหอมแดงนั้นมีสารเพคติน (Pectin) ที่ช่วยในการยับยั้งแบคทีเรีย ที่ให้ผลดีทั้งการทาและการรับประทาน ยิ่งไปกว่านั้นหอมแดงยังช่วยลดความมันส่วนเกินบนใบหน้าได้อีกด้วย
  17. สูตรเปลือกส้มหรือเปลือกมะนาวผสมโยเกิร์ต ให้คุณใช้เปลือกส้มหรือเปลือกมะนาวที่สับละเอียดแล้วนำมาผสมกับโยเกิร์ต นำมาพอกหน้าทิ้งไว้ประมาณ 20 นาที แล้วล้างออก จะสามารถช่วยกำจัดสิวอุดตันออกไปจากใบหน้าได้
  18. สูตรน้ำผึ้ง อีกหนึ่งสมุนไพรรักษาสิวอุดตัน ให้คุณใช้น้ำผึ้งพอกหน้าสัปดาห์ละ 4 ครั้ง ก่อนพอกควรล้างมือให้สะอาด ในขณะที่พอกให้ใช้มือนวดหน้าแล้ววนไปเรื่อย ๆสัก 3 นาที ก็สามารถช่วยเรื่องสิวอุดตันได้อีกทางหนึ่ง                   สิวอุดตันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร
  19. รูขุมขน
    By BruceBlaus (Own work) [CC BY 3.0 (http://creativecommons.org/licenses/by/3.0)], via Wikimedia Commons ก่อนที่เราจะรู้ว่าสิวอุดตันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร เรามาดูกันก่อนว่ากายวิภาค (anatomy) ของต่อมขนและต่อมไขมันเป็นอย่างไร
    ปกติแล้วบริเวณผิวหนังจะมี ต่อมขน (hair follicle)ซึ่งเป็นแหล่งที่กำเนิดเส้นขน และใกล้ๆกับต่อมขนก็จะมีต่อมไขมัน (sebaceous gland) ซึ่งทำหน้าที่ผลิตไขมัน (sebum) ออกมาผ่านทางท่อต่อมไขมัน (sebaceous duct) ซึ่งจะเชื่อมต่อกับรูขุมขน และจะขับออกสู่ผิวหนังภายนอกต่อไป
    บริเวณที่มีต่อมไขมันเป็นจำนวนมากได้แก่ บริเวณใบหน้า หนังศีรษะ ส่วนบนของหน้าอก และแผ่นหลัง ซึ่งเราจะสังเกตว่าสิวมักขึ้นบริเวณที่มีต่อมไขมันเยอะ และพบว่าต่อมไขมันที่บริเวณข้างต้นจะมีขนาดใหญ่ และสามารถถูกกระตุ้นได้ด้วยฮอร์โมนเพศชาย
    โดยทั่วไปเมื่อเราก้าวเข้าสู่วัยรุ่นจะมีสิวเพิ่มขึ้น ก็เนื่องจากในช่วงวัยรุ่นจะมีการสร้างฮอร์โมนแอนโดรเจน (androgen) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการแสดงออกของเพศชายเพิ่มขึ้น แม้ว่าฮอร์โมนนี้จะเกี่ยวกับเพศชายแต่เพศหญิงก็มีการสร้างฮอร์โมนชนิดนี้เช่นกัน
    ฮอร์โมนแอนโดรเจนจะกระตุ้นให้มีการเจริญเติบโตของเซลล์ในท่อต่อมไขมันกลายเป็น ขี้ไคลของรูขุมขน และกระตุ้นต่อมไขมันให้ผลิตไขมันมากขึ้น ซึ่งทั้งสองปัจจัยนี้ล้วนก่อให้เกิดสิวอุดตันได้ทั้งสิ้น

    ปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะกระตุ้นให้เกิดสิวอุดตัน

    • การล้างหน้าหรือสครับ (scrub) ผิวหน้ามากเกินไป จะก่อให้เกิดความระคายเคืองต่อผิวหน้า ซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดสิวอุดตัน
    • ผิวหนังที่อับชื้นจากการใช้เครื่องสำอางประเภทให้ความชุ่มชื้น (moisturizer) หรืออากาศที่ร้อนชื้น
    • การบีบสิว การล้างหน้าที่รุนแรงเกินไป การใช้สารเคมีเพื่อลอกหน้าที่มีความรุนแรง และการรักษาด้วยเลเซอร์ อาจจะทำให้เกิดการแตกภายในรูขุมขน ซึ่งทำให้เกิดสิวอุดตันได้
    • เครื่องสำอางบางชนิดอาจอุดตันรูขุมขน รวมถึงผลิตภัณฑ์จัดแต่งทรงผมที่มีความมัน โดยสารบางตัว เช่น ไอโซโพรพิลไมริสเตต (isopropyl myristate) โพรพิลีนไกลคอล (propylene glycol) และสีในเครื่องสำอาง อาจจะกระตุ้นให้เกิดสิวอุดตันได้ ดังนั้นเราจึงควรเลือกเครื่องสำอางที่ระบุว่าไม่ก่อให้เกิดสิวอุดตัน (noncomedogenic) หรืออาจเลือกชนิดปราศจากน้ำมัน (oil free) ก็ได้
    • เส้นขนหรือผมที่ไม่สามารถเจริญเติบโตพ้นผิวหนัง ก็ทำให้เกิดสิวอุดตัน รวมถึงเกิดสิวอักเสบได้เช่นเดียวกัน
    • พบว่าผู้ที่สูบบุหรี่จะมีสิวอุดตันมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่
    • อาหารบางชนิด โดยพบว่าสารฮอร์โมนธรรมชาติที่พบในนมจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างฮอร์โมนแอนโดรเจนได้ ส่วนอาหารที่มีน้ำตาลสูงก็สัมพันธ์กับการสร้างฮอร์โมนอินซูลิน (insulin) และฮอร์โมนแอนโดรเจน
    • เซลล์ผิวหนังถูกกระตุ้นมากขึ้น โดยเกิดจากฤทธิ์ของฮอร์โมน 5-เทสโทสเตอโรน (5-testosterone) หรือฮอร์โมนดีเอชที (DHT) ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชาย
    • มีการลดลงของสารไลโนเลเอท (linoleate) ซึ่งเป็นเกลือของกรดไขมันในซีบัม (sebum) หรือไขมันที่ผลิตจากต่อมไขมัน
    • มีการหลั่งสารก่อการอักเสบจากเซลล์ที่อยู่บริเวณต่อมขน ซึ่งเกิดจากการกระตุ้นโดยระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
    • สิวอุดตันอาจจะเกิดจากกรดไขมันอิสระ (free fatty acid) ที่ถูกสร้างมาจากแบคทีเรียบนผิวหน้า

    ชนิดของสิวอุดตัน

    สิวอุดตัน
    Blausen.com staff. “Blausen gallery 2014”. Wikiversity Journal of Medicine. DOI:10.15347/wjm/2014.010. ISSN 20018762. – Own work
    โดยทั่วไปแล้วเราจะจัดสิวอุดตันจัดเป็นสิวที่ไม่อักเสบ (noninflamatory acne) โดยลักษณะของสิวอุดตันอาจจำแนกได้เป็น

    ไมโครโคมีโดน (micromedones)

    • เป็นสิวอุดตันที่มองไม่เห็น เนื่องจากยังมีการอุดตันของรูขุมขนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ถ้ายังมีการกระตุ้นให้ต่อมไขมันผลิตไขมันเพิ่มขึ้น ก็จะมีการสะสมสิ่งอุดตันเพิ่มขึ้น กลายเป็นสิวอุดตันที่เราสามารถสังเกตเห็นได้ โดยสิวประเภทนี้อาจพัฒนาเป็นสิวอักเสบนูนแดง (papule) ได้

    สิวหัวขาวหรือสิวหัวปิด (whitehead หรือ closed comedones)

    สิว สิวไม่อักเสบ สิวหัวขาว white head
    สิวอุดตัน หัวขาว By Roshu Bangal (Own work) [CC BY-SA 4.0 (http://creativecommons.org/licenses/by-sa/4.0)], via Wikimedia Commons
    • เป็นสิวอุดตันที่มองเห็นได้ แต่ตัวสิวยังอยู่ใต้ผิวหนัง ซึ่งยังไม่สัมผัสกับสภาพแวดล้อมภายนอก จึงเรียกว่าสิวหัวปิด และสิ่งอุดตันก็ยังเป็นสีขาว จึงเรียกว่าสิวหัวขาว โดยจะพบว่ามากกว่าร้อยละ 75 ของสิวชนิดนี้จะพัฒนาเป็นสิวอักเสบ โดยอาจเกิดจากการเพิ่มจำนวนของเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า Propionebacterium acnes (P. acnes)

    สิวหัวดำหรือสิวหัวเปิด (blackhead หรือ open comedones)

    สิวอุดตัน สิวหัวดำ blackhead
    สิวหัวดำ By Elecbullet (Own work) [Public domain], via Wikimedia Commons
    • จัดเป็นสิวอุดตันที่มองเห็นได้อีกชนิดหนึ่ง แต่ตัวไขมันที่อุดตันอยู่ รวมถึงโปรตีนเคราตินซึ่งเป็นโปรตีนที่พบในผิวหนัง และสิ่งสกปรกอื่นๆที่อุดตันอยู่ เปิดออกสัมผัสกับอากาศภายนอก จึงเรียกว่าสิวหัวเปิด ซึ่งเกิดปฏิกิริยาทางเคมีที่เรียกว่าปฏิกิริยาออกซิเดชั่น (oxidation) ทำให้ไขมันและสิ่งอุดตันกลายเป็นสีดำ จึงเป็นที่มาของสิวหัวดำนั่นเอง

    มาโครโคมีโดน (macrocomedones)

    • เป็นสิวอุดตันที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 2 ถึง 3 มิลลิเมตร

    ไจแอนท์โคมีโดน (giant comedones)

    • เป็นสิวซิสต์ชนิดหนึ่ง ที่หัวสิวเปิดออกและมีสีดำเหมือนสิวหัวดำ

    โซลาร์โคมีโดน (solar comedones)

    • เป็นสิวอุดตันที่มักจะพบบริเวณแก้ม และคาง โดยส่วนมากแล้วจะพบในผู้สูงอายุ โดยเชื่อว่าเกิดจากความเสียหายของผิวหนังจากแสงแดด

    การป้องกันสิวอุดตัน

    การป้องกันสิวอุดตันที่ดีที่สุด คือ การหลีกเลี่ยงปัจจัยส่งเสริมต่างๆ เช่น ไม่บีบสิว หรือแกะสิว ไม่ล้างหน้าบ่อยจนเกินไป หรือใช้ผลิตภัณฑ์ที่ก่อความระคายเคือง เลือกเครื่องสำอางที่เหมาะกับสภาพผิว เลือกเครื่องสำอางที่ระบุว่ามีความอ่อนโยน และไม่ก่อให้เกิดสิวอุดตัน (noncomedogenic) รวมถึงเลือกผลิตภัณฑ์จัดแต่งทรงผมที่เหมาะสมเช่นกัน
    นอกจากการหลีกเลี่ยงปัจจัยส่งเสริมแล้ว การล้างหน้าให้สะอาดอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง การดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว การออกกำลังกาย เพิ่มการรับประทานผักและผลไม้ สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงแต่ป้องกันการเกิดสิวอุดตัน แต่ยังทำให้สุขภาพของเราดีขึ้นอีกด้วย
    แต่บางปัจจัยเช่น การเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนแอนโดรเจน เป็นปัจจัยที่อยู่เหนือการควบคุม ซึ่งการรักษาที่สาเหตุนี้ควรอยู่ในการดูแลของแพทย์

    รักษาสิวอุดตันโดยใช้ยา

    แพทย์มักจะเลือกใช้ยาชนิดทาภายนอกที่ช่วยเพิ่มการผลัดเปลี่ยนเซลล์ผิวโดยเร่งการขจัดออกของเซลล์ผิวเก่า (exfoliation) โดยยาที่เป็นตัวเลือกแรกคือ ยาในกลุ่มกรดวิตามินเอชนิดทาภายนอก (topical retinoids) นอกจากนี้ยา เบนซอยล์เพอร์ออกไซด์ หรือบีพีโอ (benzoyl peroxide หรือ BPO) และอาซีลาอิค แอซิด (azelaic acid) ก็สามารถใช้ได้เช่นเดียวกัน

    ยารักษาสิวอุดตันในกลุ่มกรดวิตามินเอชนิดทาภายนอก (topical retinoids)

    ยา Retin-A 0.05%
    ยา Retin-A 0.05%
    ยาในกลุ่มนี้ยับยั้งการเกิดสิวอุดตัน (anticomedogenic) โดยเฉพาะยับยั้งการเกิดสิวอุดตันที่ไม่สามารถมองเห็นได้ คือ ไมโครโคมีโดน (microcomedone) ซึ่งส่งผลลดการเกิดสิวหัวดำ สิวหัวขาว รวมถึงสิวอักเสบได้ ยากลุ่มนี้ยังสามารถละลายสิวอุดตันได้ (comedolytic) และยังพบว่ามีฤทธิ์ลดการอักเสบอ่อนๆ
    ยาที่จัดอยู่ในกลุ่มกรดวิตามินเอชนิดทาภายนอก ได้แก่
    • ยา Tretinoin มีอยู่ในยาทาสิวยี่ห้อ Retin-A®, Stieva-A® และ Retacnyl®
    • ยา Isotretinoin สามารถรักษาสิวอุดตันได้เหมือนกับ Tretinoin แต่สามารถลดการสร้างไขมันของต่อมไขมันได้ รวมถึงมีผลข้างเคียงน้อยกว่า ซึ่ง Isotretinoin พบได้ในยาทาสิวยี่ห้อ Isotrex®
    • ยา Adapalene เป็นยาที่ถูกพัฒนาเพื่อลดข้อด้อยของยาทั้งสองตัวข้างต้น โดยสามารถลดอาการระคายเคืองลงได้ ลดการสลายตัวของยาเมื่อถูกแสง โดยจำหน่ายในชื่อของ Differin®
    วิธีการใช้ยาในกลุ่มกรดวิตามินเอชนิดทาภายนอก คือ
    • ทาบางๆทั่วใบหน้าหลังทำความสะอาดผิวหน้าแล้ว ในเวลาเย็นหรือก่อนนอน โดยเริ่มแรกอาจใช้ยาคืนเว้นคืน แล้วค่อยๆเพิ่มยาขึ้นหลังจากใช้ยาไปแล้ว 4 ถึง 6 สัปดาห์
    • ถ้าจะใช้ยาร่วมกับยาบีพีโอ ควรใช้ยาบีพีโอในตอนเช้า และทากรดวิตามินเอตอนกลางคืน เนื่องจากการใช้ร่วมกันอาจทำให้กรดวิตามินเอสลายตัวได้
    ผลข้างเคียงจากยาในกลุ่มกรดวิตามินเอชนิดทาภายนอก
    • หลังใช้ยาอาจมีอาการระคายเคืองได้ ผิวหนังแดง แสบ ลอกเป็นขุย โดยเฉพาะเวลาโดนแสงแดด วิธีแก้ปัญหาคือ อาจใช้ครีมกันแดด หรือใช้โลชั่นที่ให้ความชุ่มชื้น
    • นอกจากนี้ยาในกลุ่มกรดวิตามินเอชนิดทาภายนอก อาจมีผลต่อเด็กในครรภ์ ดังนั้นต้องแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งว่าตั้งครรภ์ หรือวางแผนที่จะตั้งครรภ์

    ยาเบนซอยล์เพอร์ออกไซด์ หรือ บีพีโอ (benzoyl peroxide หรือ BPO)

    benzac ยารักษาสิว
    ยา Benzac AC 5%
    ยานี้สามารถยับยั้งการเติบโตของเชื้อ P. acnes ได้ สามารถลดการอักเสบได้ แต่ยาไม่สามารถลดการสร้างสิวอุดตันได้ โดยส่วนมากมักใช้ยานี้ร่วมกับยากลุ่มกรดวิตามินเอชนิดทาภายนอก หรือร่วมกับยาปฏิชีวนะชนิดทาภายนอก
    วิธีการใช้ยาบีพีโอ
    • ส่วนใหญ่จะทายานี้ก่อนล้างหน้า แล้วทิ้งไว้ 10 นาที แล้วจึงไปล้างหน้า เมื่อผิวทนต่อยาได้ดีก็อาจจะเพิ่มระยะเวลาทายาให้นานขึ้น
    ผลข้างเคียงของยาบีพีโอ ได้แก่
    • อาการระคายเคืองทางผิวหนัง หน้าแดง แสบ และผิวแห้ง ที่สำคัญยานี้สามารถกัดสีเสื้อผ้าและเกิดรอยด่างบนผ้าได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ผ้าสัมผัสที่ตัวยา

    ยาอาซีลาอิค แอซิด (Azelaic acid)

    ยานี้สามารถหยุดการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย P. acnes ได้ รวมถึงมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ลดการเกิดสิวอุดตัน และสามารถลบรอยด่างจากสิวได้ โดยยานี้มีจัดจำหน่ายในยายี่ห้อ Skinoren®
    วิธีใช้ยา คือ
    • ทาบางๆให้ทั่วหน้า วันละ 2 ครั้ง และอาจต้องใช้เวลานานตั้งแต่ 3 ถึง 9 เดือนจึงจะสามารถเห็นผลการรักษาได้
    อาการข้างเคียง คือ
    • ระคายเคืองผิวหนัง เกิดผิวแสบไหม้

    รักษาสิวอุดตันด้วยการใช้ธรรมชาติบำบัด

    รักษาผิวหน้า ดูแลผิวหน้า
    มาดูกันว่า เราจะสามารถรักษาสิวอุดตัน ได้โดยไม่ต้องใช้ยาได้อย่างไรบ้าง คุณก็จะมีหน้าใส ไร้สิว ได้ในแบบธรรมชาติ

    รักษาสิวอุดตันด้วยผงอบเชย (cinnamon Powder) 

    • มีการศึกษาพบว่าสาร cinnamaldehyde และ proanthocyanidins ซึ่งอยู่ในอบเชย มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อที่กว้าง รวมถึงยังฆ่าเชื้อ P. acnes และ S. epidermis ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของสิวอักเสบ
    • สาร cinnamaldehyde ยังออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ nitric oxide synthase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ใช้สร้างสาร nitric oxide ซึ่งเป็นสารสำคัญในกระบวนการอักเสบ อีกทั้งยังยังยั้งเอนไซม์ COX-2 ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ผลิตสารก่อการอักเสบต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยป้องกันการอักเสบของสิวอุดตันได้
    • อบเชยมีฤทธิ์ต่อต้านอนุมูลอิสระและสารพิษต่าง ๆ จึงช่วยป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับผิวได้
    • การใช้ผงอบเชยปรนนิบัติผิวหน้า จะช่วยขจัดไขมันส่วนเกินและเซลล์ผิวหนังชั้นนอกที่ตายแล้ว จึงช่วยลดการอุดตันของรูขุมชน
    [สูตรที่ 1] ผงอบเชย กับ น้ำมะนาว
    • ใช้น้ำมะนาวสด ๆ 1 ช้อนชา ผสมกับผงอบเชย 1 ช้อนชา คนให้เข้ากัน
    • น้ำส่วนผสมที่ได้แต้มลงบนสิวอุดตัน 1ดสิวอุดตัน ด้วยผงอบเชยของฟงี่ตายแล้ว จึงช่วยลดการอุดตันของรูขุมชนนส่วนเกิน นกับผิวาสิว ด้
    • ทิ้งไว้ 20 นาทีแล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด
    • สามารถทำได้ 2 ถึง 3 ครั้งต่อวัน
    [สูตรที่ 2] ผงอบเชย กับ น้ำผึ้ง
    • นำน้ำผึ้งและผงอบเชยอย่างละ 1 ช้อนชา ผสมให้เข้ากัน
    • แต้มส่วนผสมในข้างต้นลงบนสิวอุดตัน
    • ทิ้งไว้ทั้งคืน แล้วล้างออกในตอนเช้า
    • ทำซ้ำเป็นประจำทุกวัน จนกว่าสิวอุดตันจะดีขึ้น
    [สูตรที่ 3] ผงอบเชย น้ำมะนาว และผงขมิ้น
    • ผสมผงอบเชย 1 ช้อนชา น้ำมะนาว 1 ช้อนชา และผงขมิ้นเพียงเล็กน้อยเข้าด้วยกัน
    • ส่วนส่วนผสมที่ได้ไปล้างทำความสะอาดผิวหน้า ล้างออกด้วยน้ำอุ่น ๆ
    • สามารถใช้ได้เป็นประจำทุกวัน

    รักษาสิวอุดตันด้วยพลังของข้าวโอ๊ต

    • ข้าวโอ๊ตสามารถขจัดน้ำมันส่วนเกิน รวมถึงช่วยขจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว จึงช่วยลดการอุดตันที่รูขุมขน อันเป็นสาเหตุของสิวอุดตัน
    • ถ้านำข้าวโอ๊ตไปต้มจนสุก จะทำให้มีฤทธิ์ต่อต้านการอักเสบเพิ่มขึ้น
    • ช่วยทำให้หัวสิวแห้งได้เร็วมากยิ่งขึ้น และยังช่วยป้องกันการเกิดสิวได้
    • ช่วยเติมความชุ่มชื้นให้ผิวหน้า
    • เป็นแหล่งของวิตามินบี 1, 2, 3, 6 และ 9 ซึ่งจะช่วยเพิ่มการผลัดเปลี่ยนเซลล์ผิว
    • มีแมกนีเซียม ฟอสฟอรัส แมงกานีส เซเลเนียม และสังกะสี ซึ่งช่วยควบคุมความมันบนใบหน้า
    [สูตรที่ 1] ข้าวโอ๊ต น้ำผึ้ง และน้ำมะเขือเทศ
    • ข้าวโอ๊ต 2 ถึง 4 ช้อนโต๊ะ
    • น้ำมะเขือเทศ 2 ช้อนโต๊ะ
    • น้ำผึ้ง 1 ช้อนชา
    • นำส่วนผสมข้างต้นผสมให้เข้ากัน จนกลายเป็นเนื้อเพสต์
    • นำเนื้อเพสต์ที่ได้ไปขัดล้างผิวหน้าเบา ๆ โดยเฉพาะบริเวณที่มีสิวอุดตัน
    • เมื่อขัดผิวหน้า 10 ถึง 15 นาทีแล้ว ให้ล้างออกด้วยน้ำสะอาด
    [สูตรที่ 2] ข้าวโอ๊ต โยเกิร์ต น้ำมะนาว และน้ำมันมะกอก
    • ข้าวโอ๊ต 2 ช้อนโต๊ะ
    • โยเกิร์ต 3 ช้อนโต๊ะ
    • น้ำผึ้งและน้ำมันมะกอกเล็กน้อย
    • ผสมส่วนผสมต่าง ๆ ให้เข้ากัน แล้วนำไปมาส์กใบหน้า
    • ทิ้งไว้อย่างน้อย 10 นาทีแล้วล้างออก

    สิวอุดตันหายได้ ด้วยตำรับจากน้ำมะนาว 

    • น้ำมะนาวอุดมไปด้วยวิตามินซี ซึ่งสามารถคืนคอลลาเจนให้กับผิวหน้า
    • ความเป็นกรดของมะนาว สามารถช่วยขจัดเซลล์ผิวได้ ทำให้ผิวหน้าสดใส
    • น้ำมะนาวสามารถขจัดความมันส่วนเกินของผิวหน้า
    [สูตรที่ 1] น้ำมะนาว โยเกิร์ต เกลือ และน้ำผึ้ง
    • นำส่วนผสมข้างต้นอย่างละเท่า ๆ กัน มาผสมจนกลายเป็นเนื้อครีม
    • นำส่วนผสมที่ได้ไปสครับผิวหน้าเบา ๆ โดยอาจเน้นจุดที่มีสิวอุดตันมาก เช่น บริเวณจมูก
    • หลังจากการขัดแล้ว ให้ล้างออกด้วยน้ำสะอาด
    [สูตรที่ 2] น้ำมะนาว และนม
    • ใช้น้ำมะนาว 1 ช้อนชา ผสมกับนม 1 ช้อนโต๊ะ คนให้เข้ากัน
    • ส่วนผสมข้างต้นสามารถใช้ล้างหน้าเป็นประจำทุก ๆ วันได้
    [สูตรที่ 3] น้ำมะนาว และน้ำมันถั่วลิสง
    • ใช้น้ำมะนาวและน้ำมันถั่วลิสงอย่างละ 1 ช้อนชา ผสมให้เข้ากัน
    • นำมาทาบนผิวหน้า โดยเฉพาะจุดที่มีสิวอุดตัน
    • ทาทิ้งไว้ 20 นาทีแล้วล้างออกให้สะอาด
    [สูตรที่ 4] น้ำมะนาว และน้ำสกัดจากกุหลาบ (rose water)
    • น้ำสกัดจากดอกกุหลาบมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย
    • ผสมน้ำมะนาวและน้ำสกัดจากดอกกุหลาบอย่างละเท่า ๆ กัน
    • ใช้สำลีก้อนชุบส่วนผสมที่ได้ แล้วทาบริเวณสิว และสิวอุดตัน
    • ทิ้งไว้ 15 ถึง 30 นาที แล้วล้างออก
    • อาจทำซ้ำวันละ 1 ถึง 2 ครั้งเพื่อประสิทธิภาพที่ดี
    [สูตรที่ 5] น้ำมะนาว และโยเกิร์ต
    • ผสมน้ำมะนาว 2 ส่วน เข้ากับโยเกิร์ต 1 ส่วน
    • ทาบริเวณที่มีสิว แล้วทิ้งไว้ 15 ถึง 20 นาที
    • ล้างออกด้วยน้ำเย็น
    [สูตรที่ 6] น้ำมะนาว และเกลือ
    • นำน้ำมะนาวผสมกับเกลือแกงให้ได้เนื้อเพสต์
    • นำไปขัดบริเวณสิวอุดตัน 30 ถึง 45 วินาที โดยขัดในลักษณะหมุนวน
    • เมื่อขัดแล้ว ให้ทิ้งไว้ 5 ถึง 10 นาที
    • ล้างออกด้วยน้ำอุ่น แล้วทาครีมบำรุงเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น
    • ทำซ้ำสัปดาห์ละ 1 ถึง 2 ครั้ง
    [สูตรที่ 7] โทนเนอร์มะนาว
    • นำน้ำมะนาว 1/4 ถ้วย (60 มิลลิลิตร) ผสมกับน้ำสะอาด 1/4 ถ้วยเช่นกัน
    • เมื่อผสมจนเข้ากันแล้ว ให้เก็บในขวดแก้ว แล้วแช่ตู้เย็นทิ้งไว้ 1 เดือน
    • เมื่อครบกำหนดแล้ว ให้นำส่วนผสมที่ได้ทาบริเวณที่เกิดสิวเป็นประจำ
    [สูตรที่ 8] สครับเปลือกมะนาว
    • นำเปลือกมะนาวไปตากแดดจนแห้ง
    • ให้นำเปลือกมะนาวที่แห้งแล้วมาบดให้ละเอียด
    • เติมน้ำสะอาดลงไปในผงเปลือกมะนาว ผสมกันให้ได้เพสต์
    • แต้มลงบนสิว แล้วทิ้งไว้ 5 นาที
    • ล้างออกด้วยน้ำอุ่น สามารถทำได้ 1 ถึง 2 ครั้งต่อสัปดาห์

    ขมิ้นชัน (turmeric) สุดยอดสมุนไพรรักษาสิวอุดตัน

    • สารสำคัญที่พบได้ในขมิ้นชัน คือ curcumin ซึ่งมีสรรพคุณทางสมุนไพรหลายประการ
    • สาร curcumin มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย สามารถลดจำนวนเชื้อ acnes ในหลอดทดลองได้ร้อยละ 50 ถึง 96 ซึ่งขึ้นกับความเข้มข้นของสาร curcumin ที่ใช้
    • ขมิ้นมีสรรพคุณในการต่อต้านอนุมูลอิสระและสารพิษ ช่วยปกป้องโครงสร้างของผิวหนัง จึงช่วยป้องกันริ้วรอยก่อนวัย นอกจากนี้สาร curcumin ยังมีฤทธิ์ต้านการอักเสบอีกด้วย
    [สูตรที่ 1] ผงขมิ้นชัน และน้ำมะนาว
    • ใช้ผงขมิ้นชันและน้ำมะนาวอย่างละเท่า ๆ กัน
    • ผสมส่วนผสมทั้งสองให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกัน จนกลายเป็นเนื้อเพสต์ข้น
    • นำเพสต์ที่ได้ไปแต้มที่สิวอุดตัน หรืออาจพอกทั่วทั้งใบหน้า
    • ล้างหน้าด้วยน้ำสะอาด หลังพอกทิ้งไว้ 20 ถึง 30 นาที
    [สูตรที่ 2] ขมิ้นสด ดินสองพอง และมะนาว
    • ขมิ้นสดที่ล้างสะอาดจำนวนเล็กน้อย
    • ดินสองพอง 3 ก้อน
    • มะนาว 1 ผล คั้นเอาแต่น้ำ
    • น้ำส่วนผสมทั้ง 3 ชนิด ปั่นรวมกันในเครื่องปั่นให้ละเอียด จนได้เนื้อครีมข้น
    • นำเนื้อครีมในข้างต้นมามาส์กหน้าทิ้งไว้ 20 นาที
    • ล้างออกให้สะอาด อาจทำซ้ำได้ 2 ถึง 3 ครั้งต่อสัปดาห์
    [สูตรที่ 3] ผงขมิ้น และนมสด
    • ใช้ผงขมิ้นและนมสดเท่า ๆ กัน ผสมจนได้เนื้อครีมข้น
    • นำไปแต้มที่สิวอุดตัน หรือมาส์กทั่วผิวหน้าก็ได้
    • ทิ้งไว้ 10 นาทีแล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด
    [สูตรที่ 4] ผงขมิ้น และน้ำผึ้ง
    • ผสมผงขมิ้นและน้ำผึ้งอย่างละเท่า ๆ กัน
    • เมื่อผสมเข้ากันแล้ว ทำนำมาขัดที่ผิวหน้าเบา ๆ
    • เมื่อขัดเสร็จแล้ว ให้มาส์กต่อ 5 นาที แล้วล้างออก
    [สูตรที่ 5] น้ำขมิ้นสด นมสด และดินสอพอง
    • หั่นขมิ้นชันเป็นชิ้นเล็ก ๆ นำไปตำให้แหลก เติมน้ำเล็กน้อย แล้วกรองด้วยผ้าขาวบาง
    • บดดินสอพอง 5 ก้อน ให้แตกละเอียด
    • ผสมน้ำขมิ้น 1 ช้อนชา นมสด 1 ช้อนชา และดินสอพองที่บดแล้ว เข้าด้วยกันจนได้เนื้อเพสต์
    • นำส่วนผสมไปพอกหน้า ทิ้งไว้ 20 นาที แล้วล้างออก

    รักษาสิวอุดตัน ด้วยพลังจากไข่ขาว 

    • ไข่ขาวสามารถช่วยดูดซับไขมันส่วนเกินที่ผิวหน้า รวมถึงสิ่งสกปรกต่าง ๆ ที่ตกค้างอยู่
    • มีฤทธิ์ฝาดสมานอ่อน ๆ จึงช่วยลดการเกิดสิวได้
    • ช่วยลดขนาดรูขุมขน จึงช่วยลดการสะสมของสิ่งอุดตันต่าง ๆ
    [สูตรที่ 1] ไข่ขาว และน้ำมะนาว
    • ผสมไข่ขาวกับน้ำมะนาวเข้าด้วยกัน
    • นำไปพอกที่ผิวหน้า ควรระมัดระวังอย่าให้สัมผัสกับดวงตา
    • ทิ้งไว้ 15 ถึง 20 นาที หรือจนแห้ง ล้างออกด้วยน้ำอุ่นก่อน แล้วจึงตามด้วยน้ำเย็นเพื่อปิดรูขุมขน
    • ในกรณีที่ผิวหน้าแห้งเกินไป อาจบำรุงผิวหน้าด้วยผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ให้ความชุ่มชื้น
    [สูตรที่ 2] ไข่ขาว เบคกิ้งโซดา น้ำมะนาว และโยเกิร์ต
    • เบคกิ้งโซดา 2 ช้อนโต๊ะ
    • น้ำมะนาวคั้นสด ๆ 2 ช้อนโต๊ะ
    • โยเกิร์ตรสธรรมชาติ 4 ช้อนโต๊ะ
    • ไข่ขาว 4 ฟอง
    • ผสมส่วนผสมทั้งหมดเข้าด้วยกัน จนกลายเป็นเนื้อเดียวกัน
    • แต้มลงบนบริเวณสิวอุดตัน
    • ทิ้งไว้ 20 ถึง 30 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำอุ่น
    [สูตรที่ 3] ไข่ขาว น้ำมะนาว และน้ำผึ้ง
    • ผสมไข่ขาว น้ำมะนาวและน้ำผึ้งอย่างละ 1 ช้อนโต๊ะเข้าด้วยกัน
    • นำไปสครับเบา ๆ บนผิวหน้า จากนั้นทิ้งไว้ 10 ถึง 15 นาที จนแห้ง
    • ล้างออกด้วยน้ำอุ่น แล้วบำรุงผิวหน้าด้วยเครื่องสำอางให้ความชุ่มชื้น
    [สูตรที่ 4] ไข่ขาว น้ำมันมะกอก และข้าวโอ๊ตต้มสุก
    • ข้าวโอ๊ตต้มสุก ½ ถ้วย (มีฤทธิ์ลดการอักเสบ)
    • น้ำมันมะกอก 1 ช้อนชา
    • ไข่ขาว 1 ฟอง
    • ผสมเข้าด้วยกัน แล้วนำไปพอกบริเวณที่มีสิวอุดตัน
    • พอกทิ้งไว้ 30 นาที แล้วล้างออก
    [สูตรที่ 5] ไข่ขาว ข้าวโอ๊ต และน้ำผึ้ง
    • นำข้าวโอ๊ต (ดิบ) และน้ำผึ้งอย่างละ 1 ช้อนชา ผสมลงในไข่ขาว 1 ฟอง
    • นำไปทาบริเวณสิวอุดตัน
    • ทิ้งไว้ 20 ถึง 25 นาที แล้วล้างออก
    [สูตรที่ 6] ไข่ขาว และแตงกวา  
    • ใช้ไข่ขาว 1 ฟอง และแตงกวาหั่นชิ้นเล็ก ๆ นำไปปั่นด้วยเครื่องปั่นไฟฟ้าให้เข้ากัน
    • แต้มส่วนผสมที่ได้บริเวณสิวอุดตัน
    • ทิ้งไว้ 15 ถึง 20 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด
    • อาจทำซ้ำได้ 2 ครั้งต่อสัปดาห์
    [สูตรที่ 7] ไข่ขาว และน้ำมันมะกอก
    • ผสมไข่ขาว 1 ฟองกับน้ำมันมะกอกแบบ extra virgin 1 ช้อนชา
    • นำไปทาบริเวณสิวอุดตัน
    • ทิ้งไว้ให้แห้งแล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด

    รักษาสิวอุดตัน ด้วยสครับน้ำตาลทราย (sugar scrub)

    • น้ำตาลทรายสามารถช่วยขจัดสิ่งสกปรกบนใบหน้า รวมถึงเซลล์ผิวที่ตายแล้ว จึงช่วยลดการอุดตันของรูขุมขน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของสิวอุดตัน
    [สูตรที่ 1] น้ำตาลทราย น้ำมันมะกอก น้ำมันหอมระเหย และทีทรีออยล์ (tea tree oil)
    • เตรียม น้ำตาล 4 ช้อนโต๊ะ น้ำมันมะกอก 1 ถึง 2 ช้อนโต๊ะ น้ำมันหอมระเหยกลิ่นที่คุณชื่นชอบ และ tea tree oil
    • ผสมน้ำตาลกับน้ำมันให้เข้ากันก่อน
    • เติมน้ำมันหอมระเหย 2 ถึง 3 หยดลงไป จากนั้นผสมให้เข้ากัน
    • เติม tea tree oil 1 หยด แล้วผสมให้เข้ากับส่วนผสมอื่น ๆ
    • เมื่อต้องการใช้ ให้นำน้ำสะอาดพรมที่ผิวหน้าให้เปียกเล็กน้อย
    • แต้มสครับลงไปที่ผิวหน้า จากนั้นให้ขัดผิวหน้าด้วยนิ้วที่ไม่ถนัดเบา ๆ
    • ควรขัดผิวหน้าในลักษณะหมุนวน
    • ทำซ้ำ ๆ ให้ทั่วผิวหน้า แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด
    • ไม่ควรทำซ้ำทุกวัน เพราะอาจทำให้ผิวหน้าแห้ง แนะนำให้ทำสัปดาห์ละ 2 ถึง 3 ครั้ง
    [สูตรที่ 2] น้ำตาลทรายแดง และน้ำมะนาว
    • ผสมน้ำมะนาวกับนำตาลทรายแดง 1 ช้อนโต๊ะ
    • เมื่อผสมจนเข้ากันแล้ว ให้นำมานวดที่ผิวหน้าเบา ๆ
    • ล้างออกด้วยน้ำสะอาด ตามด้วยครีมบำรุง
    • ทำซ้ำบ่อย ๆ เพื่อผลลัพธ์ที่ดี

    รักษาสิวอุดตัน ด้วยเบคกิ้งโซดา (baking soda)

    เบคกิ้งโซดาเป็นอีกหนึ่งวิธีที่นิยมใช้รักษาสิวอุดตัน มีฤทธิ์ขจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว ช่วยขจัดความมันส่วนเกิน ซึ่งกันขัดผิวหน้าด้วยเบคกิ้งโซด้า จะช่วยเปิดรูขุมขนที่อุดตัน จึงทำให้เบคกิ้งโซดาสามารถป้องกันและรักษาสิวอุดตันได้
    [สูตรที่ 1] เบคกิ้งโซดาสครับ
    • เตรียมเบคกิ้งโซดา 1 ถึง 2 ช้อนโต๊ะ
    • นำน้ำสะอาดผสมกับเบคกิ้งโซดาจนได้เนื้อครีมข้น
    • นำเนื้อครีมไปขัดผิวหน้าเบา ๆ ในลักษณะที่หมุนวน
    • เมื่อขัดทั่วทั้งผิวหน้าแล้ว ให้ล้างออกด้วยน้ำสะอาด
    • ทามอยส์เจอร์ไรเซอร์ เพื่อคืนความชุ่มชื้นให้ผิว
    • เบคกิ้งโซดาอาจทำให้ผิวหน้าแห้งได้ ควรหลีกเลี่ยงการใช้บ่อย ๆ ถ้าผิวมันอาจทำซ้ำได้ 1 ถึง 2 ครั้งต่อสัปดาห์ แต่ในกรณีที่ผิวแห้ง ควรเว้นระยะห่างต่อครั้ง 10 ถึง 15 วัน
    [สูตรที่ 2] เบคกิ้งโซดา และน้ำมะนาว
    • ผสมน้ำมะนาวและเบคกิ้งโซดาอย่างละ 1 ช้อนชา เข้าด้วยกัน
    • นำส่วนผสมไปขัดผิวหน้าอย่างนุ่มนวล
    • ล้างออกด้วยน้ำเปล่า สามารถทำซ้ำได้ 2 ถึง 3 ครั้งต่อสัปดาห์

    รักษาสิวอุดตัน ด้วยแอปเปิ้ลไซเดอร์ (apple cider vinegar)

    แอปเปิ้ลไซเดอร์ หรือน้ำสมสายชูที่ได้จากการหมักแอปเปิ้ล มีฤทธิ์เป็นกรด สามารถใช้กำจัดสิวอุดตันได้อย่างดีเยี่ยม
    [สูตรที่ 1] แอปเปิ้ลไซเดอร์ และใบมินต์
    • น้ำแอปเปิ้ลไวเดอร์ 3 ช้อนโต๊ะ
    • ใบมินต์ (ในเมืองไทย พืชตระกูลมินต์ที่หาง่าย คือ สาระแหน่)
    • นำใบมินต์มาบดให้ละเอียด ตวงให้ได้ 3 ช้อนโต๊ะ แล้วนำใบมินต์ใส่ลงในน้ำแอปเปิ้ลไซเดอร์
    • ให้นำส่วนผสมที่ได้ ใส่ในขวดแก้ว ปิดฝาให้สนิท แล้วเก็บในที่มืดและเย็นเป็นเวลา 1 สัปดาห์
    • เมื่อครบ 1 สัปดาห์แล้ว ให้เติมน้ำลงไป 1 ถ้วย แล้วเก็บไว้ต่ออีก 1 สัปดาห์
    • เมื่อครบกำหนดแล้ว ก็สามารถนำส่วนผสมดังกล่าวมาใช้ได้ทันที
    • นำชำลีก้อนที่จุ่มลงในส่วนผสมให้ชุ่ม แล้วไปทาบนผิวหน้าก่อนนอน
    • ทิ้งไว้ทั้งคืน แล้วล้างออกในตอนเช้า
    • น้ำส้มแอปเปิ้ลมีความเป็นกรด ควรเจือจางก่อนใช้
    • ถ้ามีผิวที่แห้งมาก ไม่ควรใช้แอปเปิ้ลไซเดอร์มากเกินไป และไม่ควรทิ้งไว้ข้ามคืน
    • ถ้าผิวแพ้ง่าย ไม่ควรพอกทิ้งไว้ข้ามคืน ควรทาแล้วทิ้งไว้ 20 ถึง 30 นาทีแล้วล้างออก
    อย่าลืมว่าวิธีธรรมชาติบำบัดในข้างต้น เป็นวิธีที่ค้นพบแล้วมีกันบอกต่อกันในกลุ่มคนที่เป็นสิวอุดตัน จึงทำให้บางคนทำตามแล้วได้ผล บางคนก็ไม่ได้ผล ดังนั้นอย่าตกใจหรือเครียดว่าทำไมทำแล้วไม่ได้ ทำแล้วไม่เป็นเหมือนคนอื่น
    นอกจากนี้ยังต้องระวังและสังเกตอาการแพ้ที่อาจเกิดขึ้นได้ ต้องคอยดูการเปลี่ยนแปลงของผิวหนัง เช่น มีผื่น มีผด มีรอยแดง แสดงว่าเราอาจแพ้ส่วนผสมนั้นๆ ถ้ามีอาการแบบนี้แล้วล่ะก็ควรหยุดวิธีนั้นทันที และสังเกตอาการ ถ้าเป็นมากขึ้นควรไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
    ถ้ารักษาสิวอุดตันโดยใช้วิธีทางธรรมชาติแล้วไม่ได้ผล อาจมีความจำเป็นที่ต้องไปพบแพทย์ หรือรับคำปรึกษาจากเภสัชกร เพราะบางครั้งอาจจะต้องรักษาโดยใช้ยา ซึ่งยาที่ใช้ก็มีหลายตัว แต่ละตัวก็ให้ฤทธิ์ที่แตกต่างกัน ผลของยาในแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน และการปรึกษาแพทย์และเภสัชกรทำให้เราได้ใช้ยาได้อย่างปลอดภัย

ความคิดเห็น