ดื่มน้ำเย็นจัดดับร้อนไม่ดีเสี่ยงป่วยง่าย


ดื่มน้ำเย็นจัดดับร้อนไม่ดีเสี่ยงป่วยง่าย

อธิบดีกรมอนามัย แนะวิธีดับร้อนช่วงอากาศร้อนจัด ให้ประชาชนดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 2-3 ลิตร ป้องกันการขาดน้ำและสูญเสีย
เกลือแร่ เลี่ยงดื่มน้ำเย็นจัด เสี่ยงทำให้ป่วยง่าย นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงสภาวะอากาศที่อากาศร้อนจัดในช่วงนี้ว่า สภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าว จะส่งผลให้ประชาชนที่ต้องเดินทางหรือทำงานนอกอาคาร ประสบปัญหาเหงื่อออกมากทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่มากกว่าผู้ที่ทำงานในห้องแอร์หรือในร่ม และเกิดอาการเครียดได้ง่าย ส่งผลให้หลอดเลือดมีการขยายตัวทันที ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ และเป็นลมได้ง่าย สำหรับโรคที่มักพบบ่อยในช่วงอากาศร้อน ได้แก่ โรคปวดหัว ไมเกรน ซึ่งเป็นอาการปวดศีรษะอันเนื่องมาจากหลอดเลือดที่สมองขยายตัวมากกว่าปกติ เมื่ออากาศร้อนจะทำให้หลอดเลือดขยายตัว จึงปวดศีรษะมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีโรคลมชักหรือลมบ้าหมู หากอยู่ในที่ที่มีอุณหภูมิสูงมากๆ จะทำให้เกิดอาการชักได้ หรือผู้ที่มีภาวะไตวายอยู่แล้ว หากนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ และร่างกายสูญเสียน้ำมาก จะส่งผลให้ปริมาณของน้ำในเลือดลดลง เลือดไปเลี้ยงไตลดลง ทำให้ไตทำงานแย่ลงไปอีก “ใน ช่วงอากาศร้อนอบอ้าว ประชาชนควรดื่มน้ำให้เพียงพอวันละประมาณ 2-3 ลิตร อาจเป็นน้ำเปล่า น้ำแร่ หรือน้ำผลไม้ผสมน้ำก็ได้ ไม่ควรดื่มน้ำเย็นจัด เพราะจะทำให้ร่างกายปรับอุณหภูมิไม่ทัน อาจทำให้ป่วยได้ง่ายขึ้นนอกจากนี้ ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในหน้าร้อน เพราะจะทำให้เส้นเลือดขยาย ร่างกายสูญเสียน้ำมากยิ่งขึ้น ซึ่งการที่ร่างกายขับเหงื่อออกไปมาก จะมีแร่ธาตุต่างๆ ปนออกไปกับเหงื่อด้วย” นพ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าวสำหรับผู้สูงอายุที่มีปัญหาของสมอง เช่นโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคอัลไซเมอร์ หลอดเลือดในสมองตีบ ในฤดูร้อนจะต้องให้การดูแลเป็นพิเศษ โดยจัดเตรียมบ้านเรือนให้เหมาะสม เช่น เปิดประตูหน้าต่างระบายอากาศ เปิดพัดลมให้อากาศหมุนเวียน โดยไม่ต้องเป่าพัดลมไปที่คนไข้ถ้ามีแอร์ควบคุมอุณหภูมิก็จะเป็นผลดี เพื่อป้องกันการเป็นลม ส่วนเด็กต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะที่อยู่ใกล้แม่น้ำให้ระวังเรื่องการเล่นน้ำ จมน้ำ หรือตกน้ำ หากเล่นน้ำแล้วต้องรีบเช็ดตัวให้แห้ง ในเด็กเล็กควรใช้วิธีการเช็ดตัวแทนการอาบน้ำ
บ่อยๆ เพื่อป้องกันปัญหาเรื่องปอดบวม


ความคิดเห็น